สรุปภาวะตลาด

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ–จีน หนุน Sentiment ตลาดหุ้นโลก แนะกลยุทธ์กระจายพอร์ต เพื่อลดความเสี่ยง–เพิ่มโอกาสลงทุน
การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่นครเจนีวาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าแบบต่างตอบแทน (reciprocal tariffs) เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้:
-
สหรัฐฯ ตัดสินใจลดภาษีตอบโต้ลงเหลือ 10% อย่างไรก็ตาม ภาษี 20% ของสหรัฐฯ ที่จัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากจีนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเฟนทานิลจะยังคงมีผลอยู่ ซึ่งหมายความว่าอัตราภาษีรวมที่สหรัฐฯ จัดเก็บจากจีนนั้นอยู่ที่ 30% (จากเดิม 145%)
-
จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10%
โดยทั้งสองประเทศยังวางแผนเจรจารอบต่อไป เพื่อผลักดันข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ แม้อัตราภาษีรวมของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนจะยังอยู่ที่ 30% แต่ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับสูงสุดเดิมที่ 145% สะท้อนทิศทางเชิงบวกในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
ข้อตกลงดังกล่าวช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นในวันจันทร์ หลังผลการเจรจาออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก โดยก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเคยระบุว่า “ภาษี 80% สำหรับจีนดูเหมาะสมแล้ว” ทำให้ตลาดไม่คาดคิดว่าการเจรจาจะลงเอยเช่นนี้มาก่อน
-
ตลาดหุ้นทั่วโลก เมื่อวานขานรับในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะ ดัชนี Hang Seng (HSI) ของฮ่องกงที่ปรับตัวโดดเด่น ขณะที่ตลาดยุโรปก็ปิดบวกตามแรงหนุนจากความคืบหน้าในการเจรจา
-
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับขึ้น +8.5bps สู่ระดับ 4.474% สะท้อนมุมมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงถดถอยที่ลดลง สอดคล้องกับตลาดที่เริ่มปรับเลื่อนคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ Fed จากเดือนก.ค. ออกไปเป็นเดือนก.ย.
แนวโน้มการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุน
เราประเมินว่า อัตราภาษีรวม 30% ที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับจีนในปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นระดับเพดานสูงสุด โดยข้อตกลงที่เกิดขึ้นล่าสุดถือเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ล่วงหน้า และส่งผลเชิงจิตวิทยาเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เราเชื่อว่าประเทศ Tier 1 อื่นๆ ที่จะเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ ในลำดับถัดไป เช่น อินเดีย ไต้หวัน เวียดนาม และเกาหลีใต้ จะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการเจรจานี้ด้วย อย่างไรก็ดี เรามองว่า อัตราภาษีขั้นต่ำที่สหรัฐฯ จะใช้กับประเทศคู่ค้าในกรอบ "Reciprocal Tariff" ไม่น่าจะต่ำกว่า 10% เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์เคยระบุชัดเจนว่า 10% เป็น "อัตราพื้นฐาน" ที่ควรใช้กับพันธมิตรอย่างสหราชอาณาจักร ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการคงระดับภาษีในโครงสร้างใหม่ที่จะไม่กลับไปต่ำเหมือนยุคก่อนการเจรจา
บรรยากาศเชิงบวกจากความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นแรงหนุนสำคัญต่อ Sentiment ของตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านทางเทคนิค ขณะที่ Nasdaq กลับเข้าสู่ภาวะ Bull Market อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์มีกำหนดเยือนซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ในสัปดาห์นี้ โดย The New York Times รายงานว่า ทำเนียบขาวกำลังอยู่ระหว่างการประเมิน ข้อตกลงด้านเซมิคอนดักเตอร์ครั้งใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงการส่งออกชิป AI หลายแสนชิ้นให้กับประเทศพันธมิตรในตะวันออกกลาง ภายหลังการยกเลิกข้อจำกัดด้านการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี AI ที่ประกาศใช้ในยุคไบเดน ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดยังจับตาการเจรจาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดย ทั้งสองเหตุการณ์ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน น่าจะมีศักยภาพสูงที่เป็นปัจจัยสำคัญในการต่อยอด Momentum ของตลาดได้
แม้บรรยากาศในปัจจุบันจะเอื้อต่อสินทรัพย์เสี่ยง แต่เรายังมองว่าการเจรจาในขณะนี้ ยังอยู่ในเฟสแรก และยังไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้า อื่นๆ ยังคงอยู่ ในเชิงกลยุทธ์ เรามีมุมมอง “เป็นกลาง” (Neutral) ต่อหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น เนื่องจากดัชนี S&P 500 ได้ปรับขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว อย่างไรก็ตาม Momentum ตลาดยังอยู่ในทิศทางบวกจากความ คืบหน้าในการเจรจา
1.สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อยู่
สามารถถือต่อได้ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีมุมมอง ระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณในเชิงบวก อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น นักลงทุนสามารถจับจังหวะเพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอ โดยหากดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5,900-6,200 จุด อาจพิจารณา “Take Profit” บางส่วน เนื่องด้วยระดับ P/E ปัจจุบันที่ 21 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สะท้อนความคาดหวังที่ตลาดได้สะท้อนไปพอสมควรแล้ว
2.กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น หรือไปนอกสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศที่มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์จากการเจรจาการค้ารอบถัดไป เช่น อินเดีย ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงและเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ในลำดับต้นๆ
กองทุนแนะนำ
· LHGIGO: กองทุนตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก
· LHINDIAE: กองทุนหุ้นอินเดีย
ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามพัฒนาการเชิงนโยบายอย่างใกล้ชิด และรักษาวินัยในการบริหารความเสี่ยงโดยใช้แนวทางล็อกกำไร (Profit Locking) และป้องกันความเสี่ยง (โดยตั้งจุด Stop Loss 8-10%) อย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตการลงทุน
LHFund 13 พ.ค. 2025
ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
เนื่องจากกองทุน ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไร
จากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้