สรุปภาวะตลาด

สรุปภาพรวมการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา
ตลาดการเงินทั่วโลกในเดือนเม.ย. ถูกกดดันอย่างหนักจากการประกาศใช้มาตรการภาษีแบบ “ตอบโต้กลับ” (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวัน Liberation Day เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ดี หลังผ่านไปเพียงหนึ่งสัปดาห์ สหรัฐฯ กลับประกาศระงับการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางสู่การเจรจาการค้า ส่งผลให้ตลาดเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแม้จะมีสัญญาณบวกในช่วงปลายเดือน แต่ความผันผวนยังคงปกคลุมตลาด โดยภาพรวมแล้วดัชนีส่วนใหญ่ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาเพื่อลบผลกระทบจากแรงขายต้นเดือนได้ทั้งหมด ดัชนี S&P 500 ปิดเดือนเมษายนลดลง -0.8% ขณะที่ Dow Jones ร่วงลง -3.2% ส่วน Nasdaq Composite ซึ่งได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลับสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ +0.85%
ด้านตลาดยุโรป Stoxx Europe 600 ปรับตัวลดลง -1.2% ขณะที่ ตลาดเอเชียสิ้นเดือนปิดแบบผสมผสาน โดยดัชนี CSI300 -3.0% ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง -4.3% และดัชนี VN ของเวียดนาม -6.2% ในทางกลับกัน ตลาดหุ้นบางแห่งกลับสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่าง Nikkei 225 ของญี่ปุ่น +1.20 % , ดัชนี SET ของไทย +3.4% จากความคาดหวังเชิงบวกต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และ Nifty 50 ของอินเดียที่โดดเด่นด้วยการปรับตัวขึ้นกว่า +3.5 %
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนอย่างหนักในเดือนเม.ย. จากนโยบาย Reciprocal tariff เมื่อวันที่ 2 เม.ย. แต่ในที่สุดเพียงประมาณ 13–14 ชั่วโมงหลังจากที่มาตรการภาษีนำเข้ามีผลบังคับใช้ ในวันที่ 9 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ประกาศเลื่อน US discounted reciprocal tariff เป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับประเทศคู่ค้ากว่า 75 ประเทศ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจะใช้อัตราภาษีที่ปรับลดลงเหลือ 10% เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาในระดับทวิภาคี ยกเว้นจีนที่กลับถูกยกเว้นจากการผ่อนผันนี้ และถูกขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 145% ทำให้จีนตอบโต้ทันทีในวันที่ 11 เม.ย. ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็น 125%
หลังการกลับลำของสหรัฐฯ ส่งผลให้ S&P 500 พุ่งขึ้นแรงที่สุดนับตั้งแต่ ต.ค. 2008 นอกจากนี้ ต่อมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ 22-30 เม.ย. หลังจากที่ผลประกอบการไตรมาส 1 ของ S&P500 นั้นออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด โดยบริษัทส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามทางการค้า ซึ่งการฟื้นตัวเกือบเทียบเท่าผลของการขาดทุนเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ทั้งหมด โดยกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดคือ Technology +1.6% และ Staples +1.2% ขณะที่ กลุ่มที่ปรับตัวลงแรงที่สุดคือ Energy -13.6% และ Healthcare -3.7%
ตลาดหุ้นยุโรป
ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน จากแรงกดดันของมาตรการภาษี โดยลดลง 1.21% ในเดือนเม.ย. โดยกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่แสดงผลแย่ที่สุดลดลงถึง -10.2% ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยระหว่างเดือนเม.ย. ดัชนี STOXX 600 ร่วงลงเกือบ -18% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่สามารถฟื้นกลับมาได้หลังจากทำเนียบขาวแสดงท่าทีพร้อมผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้า
นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าหลัก จนดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (Nominal Effective Exchange Rate) ของยูโรโซนแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจ ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลในยูโรโซนได้รับแรงซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับถูกขายออก โดยเฉพาะจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์บางแห่ง เนื่องจากความไม่ไว้วางใจในหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นดัชนี Nikkei ได้ฟื้นตัวกลับจากการร่วงลงที่เกิดขึ้นหลังประกาศขึ้นภาษีต้นเดือนเม.ย.โดยตลอดทั้งเดือนดัชนีสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ที่ +1.20% และเป็นเดือนแรกที่ปิดบวกตั้งแต่เดือนธ.ค. ทั้งนี้ บรรยากาศตลาดโดยรวมเริ่มกลับเข้าสู่ความสงบในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าจะมีการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้า
ตลาดหุ้นฮ่องกงและจีน
ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงยังคงเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในเดือนเม.ย. โดยดัชนีหลักทั้งสองตลาดยังคงให้ผลตอบแทนในแดนลบ และยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศมาตรการภาษี “Liberation Day” ได้ ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ ที่เลือกปฏิบัติต่อจีนโดยตรง ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันบรรยากาศการลงทุน ขณะที่ นักลงทุนยังจับตาความเสี่ยงจากการตอบโต้ด้านการค้าระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. สัญญาณเชิงบวกเริ่มปรากฏขึ้นบ้าง เมื่อมีรายงานว่าสหรัฐฯ และจีนได้เริ่มกระบวนการเจรจาการค้าอีกครั้ง โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ มีกำหนดพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในสัปดาห์นี้ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่อาจช่วยลดแรงตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก
ตลาดหุ้นอินเดีย
ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ตลาดขยับขึ้นถึง 3.5% สะท้อนถึงการฟื้นตัวของตลาดหุ้นอินเดียที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งจากการบริโภคในประเทศ การลงทุนภาครัฐ และนโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลางอินเดีย การปรับฐานก่อนหน้านี้ยังช่วยให้ระดับมูลค่าหุ้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ดึงดูดแรงซื้อจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติที่ทยอยกลับเข้ามาสะสมสินทรัพย์อินเดีย
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของตลาดรวมแล้วกว่า 10% ภายในระยะเวลาเพียงสองเดือน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ชายแดนปากีสถาน รวมถึงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ดัชนี VNI ในเดือนเม.ย. ร่วงลงแรงกว่า -6.2% โดยมีปัจจัยกดดันหลักจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเวียดนามในฐานะประเทศส่งออก แม้ในช่วงปลายเดือนจะเห็นแรงรีบาวด์บางส่วน สะท้อนว่าแรงขายเริ่มคลี่คลายแต่บรรยากาศการลงทุนยังเปราะบาง
ตลาดหุ้นไต้หวัน
ดัชนี TWSE ของไต้หวันปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือนเม.ย. โดยสิ้นเดือนติดลบ 2.2% จากแรงกดดันหลักคือมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการประกาศภาษีตอบโต้จากฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไต้หวันปรับตัวลงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี พื้นฐานของตลาดยังคงแข็งแกร่ง โดยผลประกอบการไตรมาส 1/2025 ซึ่งประกาศไปแล้วประมาณ 45% พบว่ามีบริษัทถึง 48% ที่มีกำไรเติบโตสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สะท้อนความสามารถในการปรับตัวและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่ามกลางแรงกดดันภายนอก
ตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยในเดือนเม.ย.เผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าสหรัฐฯ หลังจากมีการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งมีอัตราสูงเกินความคาดหมายของตลาด สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในช่วงต้นเดือน อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเริ่มผ่อนคลายลงบางส่วนเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศระงับการเก็บภาษีดังกล่าวชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางให้ประเทศคู่ค้า รวมถึงไทยเข้าสู่กระบวนการเจรจาก่อให้เกิดแรงรีบาวด์ ประกอบกับตลาดทยอยฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่ากนง. จะลดดอกเบี้ยจนกระทั่ง SET สามารถปิดบวกได้ในสิ้นเดือน โดย SET Index ปิดเดือนเม.ย.ที่ 1,197.26 จุด เพิ่มขึ้น 3.4%
ทองคำ: เดือนเม.ย เป็นช่วงที่ตลาดทองคำเผชิญความผันผวนอย่างรุนแรง โดยราคาทองคำพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะปรับฐานในระยะสั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนแรงกระเพื่อมจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะกระแสข่าวการขึ้นภาษีที่จุดชนวนแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยง ก่อนที่ทองคำจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายหลังจากแรงซื้อกลับเข้ามา
ตราสารหนี้: เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yields) ก็เผชิญความผันผวนอย่างรุนแรงในเดือนเม.ย. โดยในช่วงแรกอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่า 4% เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีชุดใหญ่ในวัน “Liberation Day” ซึ่งสร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม แรงซื้อในพันธบัตรกลับพลิกเป็นแรงขายในช่วงเวลาอันสั้น ส่งผลให้ yield ดีดตัวกลับขึ้นใกล้ระดับ 4.5% ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากนักลงทุนเริ่ม กังวลว่าสถานะ "safe haven" ของสินทรัพย์สหรัฐฯ อาจถูกกระทบ หากสงครามการค้ายืดเยื้อและเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดสหรัฐฯ ไปยังตลาดอื่น เช่น ยุโรปหรือทองคำ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ : ในไตรมาส 1/2025 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดย GDP หดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ Q1/2022 ปัจจัยหลักเกิดจากการเร่งนำเข้าสินค้าล่วงหน้า ก่อนมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มีผล ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอลง ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2022 และดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค (Consumer Confidence) ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วง Spring 2020 สะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มก่อตัว
อย่างไรก็ดี ในทางตรงกันข้ามตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง โดยตัวเลขการจ้างงานเดือนมี.ค. ออกมาดีกว่าคาด แม้อัตราว่างงานจะปรับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ตัวเลข Core PCE ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าคาดการณ์ จึง คาดว่า Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมเดือนพ.ค เพื่อรอความชัดเจนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อมาตราการกีดกันทางการค้า
เศรษฐกิจยูโรโซน : GDP ของยูโรโซนในไตรมาส1/2025 ขยายตัว 0.4% ตามตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 0.2% ขณะที่ เยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ขยายตัว 0.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ GDP ของสเปนเติบโต 0.6% และอิตาลีขยายตัว 0.3% อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนลดลงต่อเนื่องในเดือนเม.ย. แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2024 ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะสงครามการค้าและความไม่แน่นอนด้านนโยบายทั่วโลก
ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักลง 25 bsp เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมาท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงทรงตัวที่ 2.2% ในเดือนเม.ย. ใกล้เคียงเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ 2.0% ซึ่งเปิดทางให้ ECB มีความยืดหยุ่นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ ในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจญี่ปุ่น : สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นในอัตราสูงถึง 24% ก่อนจะผ่อนปรนลงมาเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเรียกเก็บภาษี 25% กับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปแล้ว ซึ่งยิ่งซ้ำเติมผลกระทบต่อญี่ปุ่น ทั้งนี้ กิจกรรมเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นหดตัวโดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IP) ของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค. หดตัว -0.7% YoY หลักๆ เกิดจากการผลิตรถยนต์ลดลง -8.4% YoY ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์ว่า GDP ไตรมาสแรกจะติดลบ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากภาษีทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมา
เศรษฐกิจจีน : ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 125% สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภาคการค้าทั่วโลก ขณะที่จีนตอบโต้ทันที ส่งผลให้ความตึงเครียดทางการค้าเลวร้ายกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ก่อนหน้า แม้ความขัดแย้งจะยังดำเนินอยู่ แต่บรรยากาศเริ่มผ่อนคลายขึ้นเมื่อมีรายงานเป็นระยะว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับจีนเพื่อหาทางออก แม้จะยังไม่มีรายละเอียดหรือข้อยืนยันที่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า “ตลาดอาจผ่านจุดวิกฤตที่สุดมาแล้ว”ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ปี 2025 จะขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าคาดที่ 5.4% YoY จากแรงส่งของการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นก่อนมาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะมีผล แต่ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงถัดไปยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยแรงกดดันจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังคงปกคลุมเศรษฐกิจจีน และยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในเจรจา ขณะที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2025 ของจีนลงเหลือ 4.0% จาก 4.6% ก่อนหน้า ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ยังคงยืนยันเป้าเติบโตไว้ที่ประมาณ 5.0%ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มเดินเกมนโยบาย หนุนเศรษฐกิจรับมือภาษีสหรัฐฯ โดยการประชุมโปลิตบูโร (Politburo) เมื่อ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงของจีนให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนภาคธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็ได้ออกมาประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ลด Reserve Requirement Ratio (RRR) ลง 0.5 ppt เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบธนาคาร, ลดอัตราดอกเบี้ย 7-day Reverse Repo จาก 1.5% เหลือ 1.4%, ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (housing provident fund loan rate), ตั้งวงเงินใหม่สำหรับการบริโภคและดูแลผู้สูงอายุ 5 แสนล้านหยวน และเพิ่มวงเงินเครื่องมือสนับสนุนตลาดหุ้น เป็นต้น โดยมาตรการนี้แสดงให้เห็นว่า PBOC จริงจังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณ slowdown ชัดขึ้น อาทิ PMI เดือน เม.ย. ที่เริ่มชะลอชัดเจน
เศรษฐกิจไต้หวัน : สำนักงานสถิติไต้หวัน ระบุว่า GDP ในไตรมาสแรกปี 2025 ขยายตัวที่ 5.4% YoY มากสุดนับตั้งแต่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% YoY ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ก่อนหน้าที่สหรัฐฯ จะประกาศมาตรการกำแพงภาษี การขยายตัวของ GDP ที่สูงเกินคาดในไตรมาสแรก ส่งผลให้ไต้หวันปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทั้งปีอยู่ที่ 3.6% จาก 3.1% ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันเผยความคืบหน้าการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ รอบแรก ว่าได้มีการหารืออย่างเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา การเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงสองวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินแข็งค่าขึ้นถึง 8% แตะระดับสูงสุดในรอบสองปี แม้ว่าทางการจะไม่ได้ยืนยันว่าธนาคารกลางมีบทบาทโดยตรงในการปล่อยให้ค่าเงินแข็งเพื่อใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ แต่ก็มีนักวิเคราะห์หลายรายออกมาให้ความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ธนาคารกลางไต้หวันได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการเจรจาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ และการแข็งค่าของค่าเงินเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนและความเชื่อมั่นของตลาด ประธานาธิบดีไต้หวัน นายไล่ ชิงเต๋อ ได้เน้นย้ำว่า การเจรจากับสหรัฐฯ มุ่งเน้นที่การลดภาษีและการขจัดอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ โดยไม่มีการหารือเกี่ยวกับค่าเงิน
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่าลงได้บ้าง โดย -3% หลังจากที่แข็งค่า โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ผลของการแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไต้หวันที่เน้นการส่งออก แต่อาจอยู่ในระดับที่จำกัดเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1. บริษัทส่งออกหลายแห่งมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ซึ่งความต้องการชิปที่สูง ยุค AI น่าจะยังคงทำให้บริษัทเหล่านี้มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจอินเดีย : ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของอินเดียสะท้อนสัญญาณบวกชัดเจน บรรเทาความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดย GDP ไตรมาส 4/2024 ขยายตัว 6.2% YoY เร่งขึ้นจาก 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กลับมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนก.พ. ชะลอลงเหลือ 3.61% จาก 4.26% ในเดือนม.ค. ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือนม.ค. ขยายตัว 5% จากระดับ 3.2% เดือนก่อนหน้า บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรม
ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งเหล่านี้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาเป็นบวก โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าตลาดเริ่มสะท้อนความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งยังคงโดดเด่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) และเป็นเป้าหมายสำคัญของกระแสเงินทุนในระยะถัดไป
ทางด้านธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bsp สู่ระดับ 6.0% เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดย CPI อยู่ที่ 3.3% ในเดือนมี.ค. ลดลงจาก 3.6% ในเดือนก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจอินเดียยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง GDP ไตรมาส 4 ปี 2024 ขยายตัว 6.2% YoY เร่งขึ้นจาก 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า แม้ภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มชะลอลงบ้าง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือนก.พ. ขยายตัว 2.9% ลดลงจาก 5% ในเดือนก่อน แต่ทั้งนี้ ล่าสุดรายงาน World Economic Outlook เดือนเม.ย. 2025 ของ IMF คาดว่า อินเดียจะก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกในปี 2025 แซงหน้าญี่ปุ่น สะท้อนการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจอินเดียท่ามกลางแรงกดดันจากภายนอก
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของอินเดียยังคงน่าจับตา โดยล่าสุดเกิดเหตุปะทะกันระหว่างอินเดียและปากีสถาน บริเวณเส้นแบ่งเขตควบคุม (Line of Control) ในพื้นที่แคชเมียร์ โดยทั้งสองฝ่ายเปิดฉากยิงตอบโต้กัน ส่งสัญญาณถึงความตึงเครียดที่อาจปะทุขึ้นอีกครั้งในภูมิภาค
เศรษฐกิจเวียดนาม : เวียดนามถูกสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงกว่า 46% ก่อนจะผ่อนปรนชั่วคราวเหลือ 10% เป็นระยะเวลา 90 วัน ท่ามกลางความพยายามอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลฮานอยในการเปิดเจรจาการค้ากับวอชิงตันเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ล่าสุด เวียดนามได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดซื้อฝูงบินขับไล่ F-16 ซึ่งคาดว่าจะเป็นดีลด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สะท้อนความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ของเวียดนามในการเจรจาต่อรองท่ามกลางแรงกดดันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวในไตรมาสแรกของปี 2025 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามระบุในรายงานว่า GDP Q1/2025 ขยายตัว 6.9% YoY ลดลงจากอัตรา 7.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะชะลอตัวลง แต่อัตราการเติบโตดังกล่าวยังถือว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะที่ ตัวเลข FDI ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2025 เติบโตถึง 39.9% YoY ในช่วง 4 เดือนแรกของปี อยู่ที่ 13.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 5 ปี
เศรษฐกิจไทย : สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ก่อนจะผ่อนคลายชั่วคราวเหลือ 10% ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งแหล่งรายได้หลักของประเทศเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือนก.พ. และกดดันภาคบริการและการลงทุนโดยรวม แม้ภาคส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จะปรับตัวดีขึ้นจากอานิสงส์ของคำสั่งซื้อที่เร่งส่งออกก่อนมาตรการภาษีมีผลเต็มรูปแบบด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ความไม่แน่นอนภายนอกยังคงสูง
ภายใต้เศรษฐกิจที่เผชิญแรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายใน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bsp เมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางอัตราเงินเงินเฟ้อที่พลิกกลับมาเป็นลบ โดย CPI เดือนเม.ย.หดตัว -0.22% YoY ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13
แนวโน้มตลาด
ในช่วง 100 วันแรกของทรัมป์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยการเมืองและนโยบายการค้า ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก สำหรับในเดือนพ.ค. นี้ ซึ่งโดยปกติเป็นช่วงปลายของฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2025 และตลาดสหรัฐฯ มักให้ผลตอบแทนในทางบวกโดยเฉลี่ยราว 1.0% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้การันตีแนวโน้มในอนาคต ขณะเดียวกัน แม้ตลาดจะจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้นเดือนนี้ แต่โดยรวมคาดว่า Fed จะยังไม่ปรับนโยบายการเงินในรอบนี้ ดังนั้น เราจึงประเมินว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มผันผวนในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความคืบหน้าของมาตรการภาษี ซึ่งตลาดได้สะท้อนความคาดหวังว่าอาจได้ข้อสรุปกับหลายประเทศในระยะเวลาอันใกล้ แต่หากการเจรจายืดเยื้อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบ และเป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มผลประกอบการและราคาหุ้นในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม แม้สภาพแวดล้อมการลงทุนจะมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น แต่ “ความไม่แน่นอน” กลับเป็นแรงหนุนให้การกระจายการลงทุนกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์และภูมิภาคต่างๆ ลดความเชื่อมโยงลง กลยุทธ์การกระจายพอร์ตโฟลิโอในหลากหลายภูมิภาคและสินทรัพย์จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมในช่วงที่ความผันผวนยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้
กลยุทธ์ “Barbell Strategy” เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เหมาะสมในภาวะตลาดที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเน้นการกระจายพอร์ตอย่างสมดุลระหว่างสินทรัพย์ประเภทต่างๆ และระหว่างหุ้นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง (Growth) และหุ้นกลุ่มที่มีลักษณะป้องกันความเสี่ยง (Defensive) โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง
การจัดสรรพอร์ตในสัดส่วนประมาณ 50% ไปยังหุ้นกลุ่ม Growth เช่น กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งได้รับแรงหนุนจากเมกะเทรนด์อย่าง AI และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ขณะที่อีก 50% ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ Utilities, Consumer Staples รวมถึงหุ้นกลุ่ม Value ซึ่งมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ และมีความผันผวนน้อยกว่าในภาวะตลาดผันผวน จะช่วยลดแรงกระแทกจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระยะสั้น การป้องกันพอร์ตด้วยการกระจายการลงทุนอย่างรอบด้าน ทั้งในเชิงสินทรัพย์และภูมิภาค ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะที่ตลาดขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายนอกที่คาดการณ์ได้ยาก นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตตามทิศทางของนโยบายการเงิน ภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
- เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive และ Growth: โดยแนะนำหุ้นในกลุ่ม, Consumer Staples และเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งจะสามารถรักษามูลค่าและเติบโตได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
- กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก: เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ย
- การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง และการซื้อหุ้นคืนในตลาดเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
- ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด: เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นและกลาง
LHGEQ
กองทุนหุ้นโลกคุณภาพ เน้นลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง และมีประวัติการทำกำไรและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
LHDIVB
กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
LHGIGO
กองทุนตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก เน้นความมั่นคง เหมาะสำหรับรับมือภาวะตลาดผันผวนในปัจจุบัน
LHSPACE
กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Space Economy มีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
LHCYBER
กองลงทุนในหุ้นกลุ่ม Cyber Security รับโอกาสการลงทุนในอนาคตของโลกไซเบอร์
LHTWGHD
กองทุนลงทุนในหุ้นไต้หวัน มีกลยุทธ์ที่ผสานการลงทุนในหุ้นเติบโตกับหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง
ทั้งนี้ นักลงทุนควรรักษาวินัยในการบริหารความเสี่ยงโดยใช้แนวทางล็อกกำไร (Profit Locking) และป้องกันความเสี่ยง (Stop Loss) อย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตการลงทุน
Source:: LHFUND, Bloomberg, https://www.nasdaq.com/ Reuters, Trading Economy, investing.com
Data as of:7 May 2025
เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือ
ได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือ ได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน